top of page

นายกฯ สั่งหนุนใช้ รถ EV

22 ต.ค. 2566

นายกฯ สั่งหนุนใช้ รถ EV สลค.ร่อนหนังสือแจ้งเวียนทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ระบุจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ใหม่ต้องเป็น EV พร้อมเดินหน้าปรับเปลี่ยนรถสาธารณะทุกชนิดเป็น ไฟฟ้า ยกไทยเป็นผู้นำอาเซียนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ตุลาคม 2566) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)ได้ส่งหนังสือแจ้งหน่วยงานราชการถึงข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง “การสนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์” ซึ่งคณะรัฐมนตรี พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรีเสนอ

.

หนังสือแจ้งดังกล่าวระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) เมื่อ 16 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ สรุปว่ารัฐบาลจะไม่ละเลยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ สานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และจะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว ผ่านการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่30% ของกำลังการผลิตยานยนต์ภายในประเทศภายในปี 2573 จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

.

1.ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehice: EV มาใช้ในราชการแทนรถยนต์เดิมที่จะหมดอายุการใช้งานหรือที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับภารกิจใหม่หรือผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ รวมทั้งให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว ให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

.

2.ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดมาตรการและมาตรฐานเพื่อขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนรถสาธารณะทุกชนิด เช่น รถโดยสารประจำทาง รถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) และรถสามล้อ] ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง เพื่อให้มีผลใช้บังคับโดยเร็วต่อไป

.

3.ให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานตามความจำเป็นเร่งด่วนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

.

4. ให้กระทรวงคมนาคมประสานความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาและกำหนดนโยบายและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น การส่งเสริมให้เกิดตลาดรถยนต์ใช้แล้วสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมผู้ประกอบการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า การกำจัดรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน (End of Life Vehicle) และการนำชิ้นส่วนรถยนต์ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้ามีความเหมาะสมและจูงใจให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

.

5.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ (เช่น แบตเตอรี่ และระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า)ภายในประเทศ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV ภายในประเทศ และรองรับการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของภูมิภาค.

รู้ทันข่าว    รู้ทันโลก     รู้ทันไทย     ไททัน

bottom of page